ประวัติความเป็นมา
ตราประจำจังหวัดศรีสะเกษ
- ตราประจำจังหวัดศรีสะเกษ เป็นรูปปราสาทหิน 7 ชั้น และดอกลำดวน มีใบ 6 ใบ
- ปรางค์กู่ หมายถึง ปราสาทหิน และปรางค์กู่ ที่มีอยู่จำนวนมากในจังหวัด เช่น ปราสาทหินสระกำแพงน้อย ปราสาทหินสระกำแพงใหญ่และปรางค์กู่ จนได้ชื่อว่าเป็นนครแห่งปราสาท
- ดอกลำดวน หมายถึง ซื่อเดิมที่ปรากฏในตำนานเมือง คือ เมืองศรีนครลำดวน
- ใบลำดวน 6 ใบ หมายถึง การก่อตั้งจังหวัดครั้งแรกมี 6 อำเภอ คือขุขันธ์ กันทรลักษ์ อุทุมพรพิสัย กันทรารมย์ ราษีไศล และเมืองศรีสะเกษ
คำขวัญประจำจังหวัด
“แดนปราสาทขอม หอมกระเทียมดี
มีสวนสมเด็จ เขตดงลำดวน
หลากล้วนวัฒนธรรม เลิศล้ำสามัคคี”
ดอกไม้ประจำจังหวัด
ลำดวนหรือต้นลำดวนเป็นไม้ยืนต้นที่มีทรงพุ่มขนาดกลาง พบได้ทั่วไปในประเทศไทยและพบมากที่สุดในพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ในเขตจังหวัดอุบลราชธานี สุรินทร์ ยโสธร และศรีสะเกษ โดยมีหลักฐานสำคัญในประวัติศาสตร์ ระบุชื่อเมือง และแหล่งน้ำว่าเป็นแหล่งที่มีต้นลำดวนจำนวนมากในอดีต อันได้แก่ อำเภอลำดวน จังหวัดสุรินทร์ บ้านดวนใหญ่ ตำบลดวนใหญ่ อำเภอวังหิน จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งแต่เดิมเคยมีชื่อว่า “ศรีนครลำดวน” ดังตำนานเมืองเก่าศรีสะเกษ จึงเล่าขานติดต่อกันมานานกว่าพันปี ดอกลำดวนมีสีเหลืองอ่อน กลิ่นหอมชื่นใจชวนพิศวง เติบโตเคียงคู่มากับตำนานอันเก่าแก่เรื่อยมาจวบจนปัจจุบัน ซึ่งสามารถพิสูจน์ความยิ่งใหญ่ของลำดวนจำนวนมากกว่า 4 หมื่นต้นได้ในพื้นที่ 237 ไร่ ของสวนสมเด็จศรีนครินทร์ศรีสะเกษ ซึ่งอยู่ภายในบริเวณของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ
|
|